วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เศรษฐกิจ


           ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของเชียงราย คือ ภาคการเกษตร ซึ่งมีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดถึงร้อยละ 32 ส่วนภาคการค้าส่งและค้าปลีกมีสัดส่วนร้อยละ 17 และภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนร้อยละ 12

พืชเศรษฐกิจ
           พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง ลำไย ลิ้นจี่ ยางพารา และพืชผัก นอกจากนี้ยังมีพืชเศรษฐกิจใหม่ที่จังหวัดมุ่งพัฒนาให้เป็นพืชเศรษฐกิจเฉพาะถิ่น ได้แก่ ชา กาแฟ สับปะรด เป็นต้น
          เชียงรายเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกชามากที่สุดของประเทศ และในปี 2547 จังหวัดได้กำหนดให้ชาเป็นพืชยุทธศาสตร์หลัก โดยส่งเสริมให้มีการปลูกชาเพิ่มมากขึ้นเพื่อทดแทนพืชอื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนต่ำ และผลักดันให้จังหวัดเชียงรายเป็นศูนย์กลางผลิตชาพันธุ์ดีของประเทศ พันธุ์ที่ปลูก ได้แก่ ชาอัสสัม ซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิม และชาจีน ที่เริ่มนิยมปลูกเนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด แหล่งผลิตสำคัญอยู่ในเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง แม่สรวย และเวียงป่าเป้า
          พืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีลักษณะเฉพาะถิ่นอีกชนิดหนึ่ง ได้แก่ กาแฟ เนื่องจากมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ แหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ในเขตอำเภอแม่สรวย แม่ฟ้ าหลวง เมือง และแม่สาย

อุตสาหกรรม
           มีโรงงานที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย (ยอดสะสมถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2551) รวมทั้งสิ้น 783 โรงงาน เงินลงทุนรวม 8,440 ล้านบาท จ้างงานรวม 13,441 คน ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมการเกษตร (โรงสีข้าว กิจการบ่มใบชา บ่มใบยาสูบ อบเมล็ดพืช) รองลงมาคือ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมอโลหะ อุตสาหกรรมที่สนับสนุนกิจการก่อสร้าง โดยอำเภอเมืองมีโรงงานตั้งอยู่มากที่สุด รองลงมาคือ อำเภอแม่จัน อำเภอแม่สาย

การค้าชายแดน
         จากที่ตั้งของจังหวัดเชียงรายที่เป็นเมืองชายแดนด้านทิศเหนือ จึงมีจุดเด่นทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะแก่การเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน (GMS) ซึ่งประกอบด้วยสาธารณรัฐประชาชนจีน (ตอนใต้) สหภาพพม่า และ สปป.ลาว
        นอกจากเป็นจังหวัดชายแดนแล้ว เชียงรายยังมีโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจและนักท่องเที่ยว อาทิ
ท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดเชียงราย
เส้นทางการคมนาคมทางบกเชื่อมโยงโครงข่ายทางหลวงภาคเหนือตอนบน ทั้งยังเชื่อมโยงไปยังประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบนได้ถึง 2 เส้นทาง คือ เส้นทาง R3Aไทย ลาว จีน และเส้นทาง R3B ไทย พม่า จีน
การคมนาคมทางน้ำ ทั้งด้านการขนส่งและการเดินทางโดยใช้แม่น้ำโขง ในจังหวัดเชียงรายมีท่าเทียบเรือที่อำเภอเชียงแสนและอำเภอเชียงของ
ระบบสาธารณูปโภคเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการค้าชายแดน การขนส่งสินค้าทั้งในประเทศและไปยังต่างประเทศ ตลอดจนการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงภาคเหนือตอนบนกับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และต่อไปยังประเทศจีนอีกด้วย
        
ขอบคุณข้อมูลจาก http://122.155.9.68/identity/index.php/north/n-upper-2/chiangrai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น